ตะไคร้ต้น ๒

Litsea cubeba (Lour.) Pers.

ชื่ออื่น ๆ
จะไค้ต้น (เชียงใหม่); ตะไคร้ (กาญจนบุรี)
ไม้ต้นขนาดเล็ก ส่วนต่าง ๆ มีกลิ่นคล้ายตะไคร้ผสมกลิ่นมะนาว ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปใบหอกแกมรูปไข่หรือรุปใบหอก ดอกแยกเพศต่างต้น สีเหลืองอ่อนหรือสีนวล ช่อดอกแบบช่อซี่ร่ม ออกบนกิ่งย่อยที่ลดรูปตล้ายช่อกระจะสั้น ตามซอกใบ หรือตามกิ่ง ช่อดอกอ่อนรูปทรงกลม คล้ายดอกเดี่ยว แต่ล่ะช่อดอกมีใบระดับ ๔ ใบ เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก อับเรณูแตกแบบฝาเปิด มี ๔ ช่อง ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงกลม สีเขียวเข้ม มีจุดประสีขาว สุกสีม่วงเข็มแล้วเปลี่ยนเป็นสีดำ มีฐานดอกรูปถ้วยติดทนที่โคนผล ขนาดเล็กและแบน มีเมล็ด ๑ เมล็ด

ตะไคร้ต้นชนิดนี้เป็นไม้ต้น สูง ๔-๑๕ ม. เปลือกเรียบ สีเขียวแล้วเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอมเทาหรือสีเทา มีช่องอากาศ กิ่งย่อยสีเขียวหรือสีเขียวอมเหลืองอ่อน เกลี้ยงหรือเกือบเกลี้ยง ส่วนต่าง ๆ มีกลิ่นคล้ายตะไคร้ผสมกลิ่นมะนาว

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปใบหอกแกมรูปไข่หรือรูปใบหอก กว้าง ๒-๔ ซม. ยาว ๘-๑๘ ซม. พบน้อยที่ยาวได้ถึง ๒๓ ซม. ปลายเรียวแหลมหรือยาวคล้ายหาง โคนรูปลิ่ม ขอบเรียบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ ด้านบนสีเขียวเข้ม ด้านล่างสีอ่อนกว่า เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน บางครั้งด้านล่างมีขนประปรายตามเส้นกลางใบ ด้านล่างมีนวล ใบแก่สีเหลือง เมื่อแห้งมักมีสีดำ เส้นกลางใบเป็นร่องตื้นหรือแบนทางด้านบน เป็นสันนูนทางด้านล่าง เส้นแขนงใบข้างละ ๗-๑๔ เส้น เป็นสันนูนเล็กน้อยทางด้านบน เป็นสันนูนทางด้านล่าง ปลายเส้นมักโค้งจดกับเส้นถัดขึ้นไปใกล้ขอบใบ เส้นใบย่อยแบบร่างแห เห็นชัดทั้ง ๒ ด้าน ก้านใบยาว ๐.๘-๑.๕ ซม. เกลี้ยง

 ดอกแยกเพศต่างต้น สีเหลืองอ่อนหรือสีนวล ช่อดอกแบบช่อซี่ร่ม ออกบนกิ่งย่อยที่ลดรูปคล้ายช่อกระจะสั้น ตามซอกใบ หรือตามกิ่ง ยาว ๑-๓ ซม. ช่อดอกอ่อนรูปทรงกลม คล้ายดอกเดี่ยว เมื่อบานมีเส้นผ่านศูนย์กลางช่อ ๐.๕-๑ ซม. ก้านช่อดอกยาว ๐.๖-๒ ซม. เกลี้ยงหรือค่อนข้างเกลี้ยง แต่ละช่อดอกมีใบประดับ ๔ ใบ เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก สีเขียวอ่อน รูปค่อนข้างกลม รูปไข่กว้าง หรือรูปไข่ เว้าเข้าด้านใน กว้าง ๓-๕ มม. ยาว ๓.๕-๗ มม. บาง มีเส้นใบประดับ ด้านนอกเกลี้ยงหรือค่อนข้างเกลี้ยง กลีบรวม ๖ กลีบ เรียงเป็น ๒ วง วงละ ๓ กลีบ ติดที่ขอบฐานดอกรูปถ้วย ขนาดเกือบเท่ากัน บางคล้ายเยื่อ มีขนสั้นนุ่ม ช่อดอกเพศผู้มี ๕-๖ ดอก ก้านดอกเพศผู้ยาว ๑-๒ มม. มีขนสั้นนุ่ม กลีบรวมรูปไข่กลับ กว้าง ๒-๓ มม. ยาว ๓-๓.๕ มม. เกสรเพศผู้ ๘-๑๑ เกสร ยาวไม่เท่ากัน ก้านชูอับเรณูยาว ๑.๕-๒ มม. มีขนยาว โคนมีต่อม ๒ ต่อม หรือไร้ต่อม อับเรณูยาว ๑.๕-๒ มม. แตกแบบฝาเปิดทางด้านเดียวกัน มี ๔ ช่อง แยกเป็นด้านบน ๒ ช่อง ด้านล่าง ๒ ช่อง มีเกสรเพศเมียที่เป็นหมันยาว ๑-๑.๕ มม. เกลี้ยง ช่อดอกเพศเมียมี ๕-๗ ดอก ก้านดอกเพศเมียยาว ๑.๕-๒.๕ มม. มีขนสั้นนุ่ม กลีบรวมรูปไข่กลับ กว้าง ๑-๑.๕ มม. ยาว ๑.๕-๒ มม. มีเกสรเพศผู้ที่เป็นหมัน ๘-๙ เกสร รูปแถบ ยาว ๑-๑.๕ มม. มีขน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปทรงกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๐.๘-๑ มม. เกลี้ยง มี ๑ ช่อง มีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียยาว ๑-๑.๕ มม. ยอดเกสรเพศเมียรูปโล่

 ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๖-๘ มม. สีเขียวเข้ม มีจุดประสีขาว สุกสีม่วงเข้มแล้วเปลี่ยนเป็นสีดำ เกลี้ยง เป็นมัน มีฐานดอกรูปถ้วยติดทนที่โคนผล ขนาดเล็กและแบน เส้นผ่านศูนย์กลาง ๒-๓ มม. มีขนสั้นนุ่มประปรายหรือเกลี้ยง ก้านผลยาว ๓-๗ มม. ก้านช่อผลยาว ๐.๓-๑ ซม. ก้านผลและก้านช่อผลมีขนสั้นนุ่มประปรายหรือเกลี้ยง มีเมล็ด ๑ เมล็ด

 ตะไคร้ต้นชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันตกเฉียงใต้ และภาคใต้ เป็นพรรณไม้เบิกนำ มักพบบริเวณพื้นที่เปิดโล่ง ตามชายป่าดิบเขา ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง ๙๐๐-๒,๐๐๐ ม. และตามป่าดิบชื้นทางภาคใต้ ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง ๓๐๐-๕๐๐ ม. ออกดอกเดือนตุลาคมถึงกุมภาพันธ์ เป็นผลเดือนมีนาคมถึงสิงหาคม ในต่างประเทศพบที่อินเดีย เนปาล ภูฏาน เมียนมา จีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น กัมพูชา คาบสมุทรมาเลเซีย เกาะสุมาตรา เกาะชวา และเกาะบอร์เนียว

 ประโยชน์ ทางภาคเหนือของประเทศไทยใช้ดอกสดและผลที่ดองน้ำปลารับประทานเป็นเครื่องเคียง ชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ทางภาคเหนือของประเทศไทยใช้ผล เปลือก และใบเป็นเครื่องเทศปรุงอาหารประเภทแกง เช่น แกงเนื้อ ผลมีกลิ่นคล้ายตะไคร้ผสมกลิ่นมะนาว รสเผ็ดซ่า มีน้ำมันหอมระเหยปริมาณมาก ใช้ทำผลิตภัณฑ์สุคนธบำบัดและผลิตภัณฑ์ไล่ยุง.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตะไคร้ต้น ๒
ชื่อวิทยาศาสตร์
Litsea cubeba (Lour.) Pers.
ชื่อสกุล
Litsea
คำระบุชนิด
cubeba
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Loureiro, João de
- Persoon, Christiaan Hendrik
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Loureiro, João de (1717-1791)
- Persoon, Christiaan Hendrik (1761-1836)
ชื่ออื่น ๆ
จะไค้ต้น (เชียงใหม่); ตะไคร้ (กาญจนบุรี)
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ. ดร.ฉัตรชัย เงินแสงสรวย